มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นรวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
มาตรา 439 บุคคลผู้จำต้องคืนทรัพย์อันผู้อื่นต้องเสียไปเพราะละเมิดแห่งตนนั้นยังต้องรับผิดชอบตลอดถึงการที่ทรัพย์นั้นทำลายลงโดยอุบัติเหตุหรือการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างอื่นโดย อุบัติเหตุหรือทรัพย์นั้นเสื่อมเสียลงโดยอุบัติเหตุนั้นด้วย เว้นแต่เมื่อการที่ทรัพย์สินทำลายหรือตกเป็นพ้นวิสัยจะคืนหรือเสื่อมเสียนั้นถึงแม้ว่าจะมิได้มีการทำละเมิดก็คงจะต้องตกไปเป็นอย่างนั้นอยู่เอง
มาตรา 440 ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันได้เอาของเขาไปก็ดีในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันลดน้อยลงเพราะบุบสลายก็ดี ฝ่ายผู้ต้องเสียหายจะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องใช้คิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคานั้นก็ได้
มาตรา 441 ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความ เสียหายอย่างใดๆ เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไปหรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น แม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตนหรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของตน
มาตรา 442 ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้นค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฏหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 444 ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้นผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไปและค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดีเป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียงใด ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่ายัง สงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีก็ได้
มาตรา 445 ในกรณีทำให้เขาถึงตายหรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดีในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหาย มีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคล ภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย
มาตรา 446 ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่ สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้
มาตรา 447 บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียงเมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหายหรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้
มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการ ละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับ แต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิด มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญาและมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2560
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ได้รับแจ้งเหตุและเดินทางไปดูป้ายโครงการก่อสร้างที่ระบุชื่อโจทก์เป็นสถาปนิกโครงการ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สำนักงานเขตบางพลัด จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างโดยใช้เอกสารที่มีลายมือชื่อปลอมของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ถือว่าโจทก์รู้ตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 4 รู้ว่าโจทก์ไม่ได้รับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบแต่กลับมีเจตนานำชื่อโจทก์มาลงไว้ในป้ายประกาศบริเวณที่ก่อสร้างว่าโจทก์เป็นสถาปนิก การกระทำของจำเลยที่ 4 และในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2560
ตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกรมธรรม์ที่ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 13,883 บาท ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจาก ส. ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่อได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ ทั้งจำเลยเป็นนายจ้างของ ส. ผู้ซึ่งได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง แม้จำเลยจะมิใช่บุคคลตามมาตรา 31 ก็ตาม แต่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยได้ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2559
คดีแรกจำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงมีประเด็นเพียงว่าโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญากู้เงินหรือไม่ ส่วนคดีหลังโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจงใจฟ้องหรือนำสืบในคดีแรกด้วยสัญญากู้เงินปลอมทำให้โจทก์เสียหาย คดีหลังจึงมีประเด็นว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยปลอมสัญญากู้เงินใช้เป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ และนำสืบสัญญากู้เงินปลอมนั้นจนศาลรับฟังและพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย เป็นการทำให้โจทก์เสียหายและเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การที่จำเลยต้องชำระเงินที่ได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนแก่โจทก์เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10672/2559
แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 จะบัญญัติว่า ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา และศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ แต่การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ จะต้องเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมไม่อาจไปยื่นคำร้องในคดีความผิดอื่นของจำเลยทั้งสองที่ไม่ได้เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายได้ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการร่วมกันดัดแปลงขึ้นด้วยการต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก บนที่ว่างด้านหลังเชื่อมต่ออาคารหลังเดิมให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดัดแปลงต่อเติมอาคาร แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องโดยอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอันเป็นคนละข้อหากับที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารมาในคดีนี้ หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยทั้งสองจริงก็ต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10312/2559
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ในทางเดินรถที่สวนกันได้ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่กลับรถหรือเลี้ยวรถทางขวาในเมื่อมีรถอื่นสวนหรือตามมาในระยะน้อยกว่าหนึ่งร้อยเมตร เว้นแต่เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่น" สภาพถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีช่องเดินรถไป 3 ช่อง และกลับ 3 ช่อง แยกจากกันโดยมีเกาะกลางถนน รถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับมีความยาวของรถหัวลากรวมถึงท่อนซุง 20 ม. ในขณะความกว้างของทางเดินรถทั้ง 3 ช่อง มีเพียง 10.5 ม. การเลี้ยวกลับรถไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียวโดยเฉพาะท่อนซุงมีน้ำหนักมาก สภาพถนนที่เปียกแฉะทำให้ไม่สามารถเลี้ยวกลับรถด้วยความเร็ว จำเลยที่ 1 ต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งกว่ารถบรรทุกที่มีความยาวปกติจะเลี้ยวกลับรถได้ต่อเมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นที่อยู่ในทางเดินรถที่สวนทางมา การที่จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวากลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุโดยขับเลยเข้าไปในช่องทางเบี่ยงที่อยู่คู่ขนานด้านซ้ายของทางเดินรถที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อออกไปยังทางเดินรถอีกด้านหนึ่งเพื่อเข้าทางเดินรถปกติ แสดงว่าการเลี้ยวกลับรถเข้าทางเดินรถที่เกิดเหตุ ณ จุดกลับรถตามปกติไม่อาจทำได้โดยก่อนเลี้ยวจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเห็นแสงไฟรถในทางเดินรถที่เกิดเหตุอยู่ในระยะไกลเกินกว่า 200 ม. หากเป็นจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 สามารถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในช่องทางเบี่ยงคู่ขนานดังกล่าวได้ทันก่อนรถคันที่จำเลยที่ 1 เห็นแสงไฟจะแล่นมาถึง แต่ ร.ต.อ. อ. พนักงานสอบสวนเบิกความว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยล้อปัดของรถยนต์ของโจทก์เป็นทางยาว 70 ม. รอยปัดเริ่มจากช่องเดินรถช่องกลางเมื่อใกล้จุดเกิดเหตุได้เบนไปทางซ้ายเข้าสู่ช่องเดินรถซ้ายสุด เชื่อว่า ก. ต้องห้ามล้อรถด้วยความแรงพอสมควรถึงขนาดทำให้ล้อรถยนต์โจทก์มีรอยลื่นปัดและเปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องกลางไปยังช่องซ้ายสุด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุในขณะที่มีรถยนต์ของโจทก์แล่นสวนทางมาในระยะน้อยกว่า 100 ม. ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่รอให้รถยนต์ของโจทก์ที่สวนมาผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน อันเป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นและไม่ปลอดภัย การเลี้ยวกลับรถของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10099/2559
จำเลยทั้งสองให้การว่ามีกลุ่มบุคคลใช้กลอุบายกับจำเลยที่ 1 ขอเช่ารถยนต์คันพิพาทแล้วไม่ส่งมอบรถคืน จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ อ. กับพวก ในข้อหาร่วมกันยักยอก พนักงานอัยการมีความเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการร่วมกันใช้กลอุบายในการที่จะร่วมกันลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไป โดยแนบสัญญาเช่ารถยนต์และสำเนาหนังสือสำนักงานอัยการมาท้ายคำให้การ แต่จำเลยทั้งสองไม่สืบพยานให้เห็นว่า อ. กับพวก มีพฤติการณ์ใช้กลอุบายในการร่วมกันลักเอารถยนต์ไปอย่างไร ทั้ง ๆ ที่การนำรถยนต์ออกให้เช่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 หากแต่เพียงอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาและสำเนาคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยประกอบคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่ามีผู้มาขอเช่าแล้วไม่นำรถยนต์มาคืน มีการดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งสำเนาคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อ. กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ. กับพวก ร่วมกันลักรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวไปอย่างไร คดีอาญาเรื่องอื่นที่มีคำขอให้นับโทษจำคุกต่อเป็นความผิดฐานใด ส่วนจำเลยร่วมมี น. เบิกความว่าพยานสอบปากคำจำเลยที่ 1 ไว้ ตามบันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาประกอบสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์เอกสารท้ายคำให้การแสดงให้เห็นว่า อ. ที่มาทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีตัวตนจริงไม่ได้มีการแอบอ้างหรือมีบุคคลอื่นแสดงตนเป็น อ. มาติดต่อขอเช่ารถยนต์ ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า อ. เช่ารถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาเช่าแล้วร่วมกับพวกลักเอารถยนต์ไปจึงเป็นกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองเพราะเหตุความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและต่อโจทก์ผู้รับประโยชน์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9402/2559
บ. ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่บริษัท ว. เป็นผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเหตุเกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยด้วยความประมาทเลินเล่อ โจทก์ที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ บ. ผู้ประสบภัยจึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บริษัท ว. จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท แล้ว เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 บริษัท ว. มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่นนี้จำเลยที่ 2 ชอบที่จะกันเงิน 50,000 บาท ไว้เพื่อคืนแก่บริษัท ว. ดังนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงเหลือเพียง 50,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 วางเงินชำระต่อศาลชั้นต้นไว้แล้ว 50,000 บาท เมื่อรวมกับเงิน 50,000 บาท ที่ต้องกันไว้เพื่อคืนบริษัท ว. แล้ว เป็นเงิน 100,000 บาท เต็มวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิตแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีก แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 วางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระแก่โจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น จำเลยที่ 2 ยังคงมีความรับผิดในดอกเบี้ยของต้นเงิน 50,000 บาท จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2550
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9386/2559
ชื่อสกุลที่ถูกต้องของลูกหนี้มีอยู่ในรายงานสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 7 ฟ้องคดีล้มละลาย จำเลยที่ 7 เป็นทนายความ ควรมีความรอบคอบและระมัดระวังในการขอคัดข้อมูลประวัติบุคคลจากทางราชการเพื่อนำไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีล้มละลายซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ไปขอคัดชื่อสกุลของโจทก์ มิใช่ของลูกหนี้ แล้วใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่ไปขอคัดมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ทนายความ นับเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ครั้นเมื่อจำเลยที่ 7 รู้ในภายหลังว่าฟ้องลูกหนี้ผิดเป็นฟ้องโจทก์ แทนที่จำเลยที่ 7 จะถอนคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เพื่อลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง อันจะทำให้คำฟ้องในส่วนที่ฟ้องโจทก์เสร็จสิ้นไป แต่จำเลยที่ 7 กลับใช้วิธีแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ ซึ่งไม่อาจทำได้ และผลก็ไม่เหมือนกับการถอนคำฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 7 ในส่วนนี้นับว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 จะกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของทางศาลด้วย เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดหาได้ไม่
จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร ก. จำเลยที่ 7 เป็นพนักงานของธนาคาร ก. แต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 จึงเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวแทน จำเลยที่ 5 เป็นทนายความของบริษัท พ. ซึ่งรับจ้างดำเนินคดีล้มละลายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรับสำนวนต่อมาจากจำเลยที่ 7 ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้จำเลยที่ 7 แก้ไขคำฟ้อง
จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ไปสืบพยานเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จำเลยที่ 5 อ้างตนเองเป็นพยาน ส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของตนแทนการซักถาม และส่งเอกสารซึ่งมีแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของลูกหนี้ที่ถูกต้องแล้วต่อศาล จึงเป็นการนำสืบถึงลูกหนี้ที่ศาลอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องแล้ว มิใช่นำสืบว่าลูกหนี้คือโจทก์ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด น่าจะเกิดจากความผิดหลงที่ไปพิจารณาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของโจทก์อันสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 7 ฟ้องโจทก์แต่ไม่ถอนฟ้องกลับใช้วิธีการแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว ยังไม่ถนัดที่จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 5 ประมาทเลินเล่อ
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ขณะคดีอาญายังไม่เด็ดขาด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2559
การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้ ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2559
การที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง เป็นเหตุให้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลเหตุที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่กรณีที่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ผู้ตายลาออกจากงานวันที่ 1 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2559
เมื่อเกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ก็ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 8 จำเลยเป็นข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสำรวจและออกแบบ แม้เป็นเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ ก็อาจเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การที่โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจึงเป็นการเหมาะสมและสอดคล้องตามระเบียบดังกล่าว ส่วนของอายุความในสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งตามวรรคหนึ่งรวมประการที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย กรณีจะใช้อายุความตามหลักละเมิดทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาบังคับไม่ได้
หนังสือสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงลงวันที่ 15 มีนาคม 2544 ที่นายอำเภอบางพลีแจ้งให้ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ทราบแต่เพียงว่าผู้ที่น่าจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายมีบุคคลใดบ้าง และยังมีเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ต่อไป หนังสือดังกล่าวจึงยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ทราบและรู้ว่าจำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว และเนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งกรมบัญชีกลางประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 แล้วมีมติให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดให้โจทก์ทราบ โดยหนังสือลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 โจทก์ลงรับหนังสือเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2559
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรื่องใหม่ แต่มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่า คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. โดยให้ถือว่าผู้เสียหายอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง จึงมีสิทธิเพียงอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งเท่านั้น คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 จึงไม่มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่อาจฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาที่รับฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำผิด ตามมาตรา 46 จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจรับประกันภัยวินาศภัยทุกประเภทและเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วค 5927 กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย โดยขอให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินวงเงิน 100,000 บาท ของส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 เท่ากับโต้แย้งแล้วว่ามีข้อจำกัดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ก็คงถือได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 รับแล้วว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งความรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น กรมธรรม์ภาคสมัครใจที่จำเลยที่ 2 ส่งมาตามคำสั่งเรียกและโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. 100,000 บาทต่อคน อันเป็นการกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ในความเสียหายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วย ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 1 เมษายน 2546 ข้อ 3 กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนดังต่อไปนี้ (1) ห้าหมื่นบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยนอกจากกรณีตาม (2) และ (2) หนึ่งแสนบาทต่อคน สำหรับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ......(ช) ทุพพลภาพอย่างถาวร โจทก์เบิกความเพียงว่าสภาพร่างกายของโจทก์ไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพเสริมสวยได้เหมือนเดิม โดยไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นว่าอาการบาดเจ็บที่โจทก์ได้รับนั้นรุนแรงหรือส่งผลถึงขนาดไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมสวยที่ทำประจำอยู่ได้โดยสิ้นเชิงอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุพพลภาพอย่างถาวร ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงมีเพียง 50,000 บาท เมื่อรวมกับความรับผิดในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย 100,000 บาท และความรับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งมีวงเงิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ตามกรมธรรม์ภาคสมัครใจที่โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์โดยศาลชั้นต้นกำหนดให้ 2,385 บาทแล้ว รวมเป็นเงิน 152,385 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดเต็มตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันทำละเมิด แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนมีความผูกพันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่ต้องรับผิด ไม่ได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด เมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อใด จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11044/2558
แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก. ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท. ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10942 - 10943/2558
แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบเนื่องจากกรณีไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10941/2558 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรก มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สอง มีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบแปดซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์กระทำละเมิด ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยเงินกู้พิเศษ โดยอนุมัติให้เงินกู้พิเศษแก่ ส. เพื่อซื้อรถยนต์โดยไม่ได้ให้ ส. ส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อ ส. จะต้องส่งมอบทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2540 และมูลละเมิดของจำเลยทั้งสิบแปดเกิดจากไม่ดำเนินการหรือละเลยไม่กวดขันให้พนักงานสหกรณ์โจทก์ติดตามทวงถาม ส. ให้ส่งมอบทะเบียนรถยนต์ตามระเบียบของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น วันทำละเมิดย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายนั้น ย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 จึงล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้วฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10816/2558
ผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำร้องของผู้ร้องเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้ร้องอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อผู้ร้องมิได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ผู้ร้องย่อมไม่มีฐานะเป็นคู่ความอันจะมีสิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อคดีส่วนอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10534/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาคงมีเพียงว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ และใครประมาทมากกว่ากันอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยและจำเลยได้อุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ และบทบัญญัติอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดมูลหนี้ละเมิดขึ้นนั้น ป.พ.พ. มาตรา 442 วางหลักให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งการที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนแค่ไหน เพียงใดนั้น ศาลย่อมที่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่นำสืบมาว่าฝ่ายจำเลยหรือผู้ตายประมาทมากน้อยกว่ากันอย่างไรและเพียงใดด้วย จึงจะเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10010/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดไว้จากบริษัท อ. และบริษัท อ. ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัท ตามสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 มีคนร้ายเข้าไปในอาคารแล้วลักทรัพย์รวมมูลค่า 152,166.32 บาท ของบริษัท อ. ไป โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลป้องกัน ไม่ตรวจตราดูแลตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท อ. ไปจำนวน 147,166.32 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิด และสิทธิเรียกร้องจากการเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย แม้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กรกฎาคม 2546 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยยังไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558
จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์บุตรจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์ที่ อ. ขับซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนทำบันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า อ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โดยคู่กรณีลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เป็นผลให้ อ. ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้ อ. เป็นการปฏิบัติตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้จำกัดสิทธิ์ อ. หรือผู้เสียหายที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9468/2558
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นนายจ้างด้วยเหตุจำเลยปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบ ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งฐานละเมิดต่อโจทก์ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และฐานทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เกินกว่า 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2558
แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7200/2558
จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 85 - 3491 นครปฐม และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุกกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 - 7411 นครปฐม โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถบรรทุกดังกล่าวไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก่ทางราชการไม่ กลับยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกคันเกิดเหตุดังกล่าวไปใช้ประกอบการขนส่งโดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427, 820
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6145/2558
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาเกิดเหตุ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นำความดังกล่าวมาใช้กับคู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาด้วย จำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ 6 ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ จำเลยและคู่สมรสมีหน้าที่ตามบทบังคับแห่งกฎหมายในอันที่จะต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยไม่ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม การที่ ก. คู่สมรสของจำเลยเข้าถือหุ้นในบริษัท ป. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันจากกระทรวงพลังงานอันมีลักษณะเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยมีเหตุสิ้นสุดลง จึงส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการต้องห้ามอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยที่ 12 - 14/2553 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐตามมาตรา 216 วรรคห้า จำเลยเป็นคู่ความในคดีจึงต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยจงใจกระทำผิดกฎหมายเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลง เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยว่างลง รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง
การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่เป็นเงิน 11,385,447.01 บาท ต้องถือว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการจงใจกระทำผิดกฎหมายของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่เป็นค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 หาจำต้องมีบทบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ให้สิทธิโจทก์เรียกค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่จากผู้กระทำผิดได้โดยเฉพาะ จึงจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดดังจำเลยฎีกาไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2558
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายเพราะเหตุละเมิด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 หน้าที่ในการอุปการะของผู้ตายในฐานะสามีของโจทก์ที่มีต่อโจทก์จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ตามที่โจทก์เรียกร้องเป็นเวลา 7 ปี นับแต่วันทำละเมิดคือ วันที่ 17 มกราคม 2554 จึงมากเกินสมควร กรณีมีเหตุสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ใหม่ตามส่วนที่โจทก์เรียกร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2558
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยโดยทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 2 เพื่อคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกรวมถึงความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยและทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้นคือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ" และวรรคสอง บัญญัติว่า "บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่..." มีความหมายว่าบุคคลผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่ตนจากผู้รับประกันภัยโดยตรงและเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบฐานละเมิด คือจำนวนค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ได้รับ และมาตรา 877 บัญญัติว่า "ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยแท้จริง..." คำว่า "วินาศภัยอันเกิดขึ้นและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ" จึงหมายความว่า เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์ ส่วนผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนในหนี้ละเมิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438 กรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้ละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ระงับเกิดเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เป็นเรื่องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญา เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับในส่วนที่เหลือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2558
ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึงค่าปลงศพด้วย เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้าง ล. เป็นภริยาของ ห. ผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ขณะ ห. มีชีวิตเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลซึ่งถือเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ ล. ตลอดมา เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ล. จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ได้ แต่ก่อนถึงแก่ความตาย ล. ยังมิได้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นทายาทโดยธรรมของ ล. แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่าเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ห. มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แทน ล. คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของ ห. ผู้ตาย แต่มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. และ ห. ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่ ล. อย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง ผู้ที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 คือ สามีกับภริยา หรือบิดามารดากับบุตร แต่ อ. และ ธ. มิใช่บุตรของ ห. ผู้ตาย แม้ในความเป็นจริงผู้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองอยู่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยทั้งสามและไม่ก่อสิทธิให้แก่ผู้อื่นฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2558
ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้เสียหายในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำไปในทางปฏิบัติหน้าที่ ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานรัฐโดยตรง แต่ห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2558
ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยของจำเลยที่ 3 กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จะพิจารณาว่าเจ้าพนักงานที่ดินทำละเมิดอย่างไรจึงต้องพิจารณาฟ้องของโจทก์ทั้งฉบับ มิใช่พิจารณาเฉพาะการออกโฉนดให้แก่ผู้ครอบครองในขณะนั้น หรือการเพิกถอนการออกโฉนดซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำฟ้องโจทก์เท่านั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง กระทำการโดยประมาทออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ส. โดยไม่ชอบเพราะอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรและโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยสุจริต ต่อมาโฉนดที่ดินของโจทก์ถูกเพิกถอน โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าพนักงานที่ดิน จึงแสดงว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหลังจากที่โฉนดพิพาทถูกจำเลยที่ 1 เพิกถอน มิใช่ได้รับความเสียหายนับแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดในที่ดินพิพาท สำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยได้อาศัยแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหารซึ่งมีมาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 แต่ขณะที่จำเลยที่ 3 เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ใช้ระวางแผนที่ภายถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ตรวจสอบ การออกโฉนดที่ดินแล้วเพิกถอนนั้น เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มีส่วนผิดอยู่ แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ยังไม่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในขณะนั้น เหตุละเมิดจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและถูกจำเลยที่ 3 เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเพราะวันดังกล่าวโจทก์เพิ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 3 ครบองค์ประกอบฐานละเมิด เมื่อนับถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่ล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด หรือล่วงพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2558
สัญญาจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัยระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ กลุ่ม ล. ผู้รับจ้างซึ่งมีจำเลยเป็นตัวแทน ข้อ 9.1 ระบุให้จำเลยรับผิดเฉพาะกรณีเป็นทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง หรือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบได้รับความเสียหาย แต่ตามสัญญารับจ้างให้บริการรถเข็นกระเป๋าระหว่างบริษัท ท. ผู้ว่าจ้าง กับ บริษัท อ. ผู้รับจ้างซึ่งทำประกันภัยไว้กับโจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ดังนั้น รถเข็นกระเป๋าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัท ท. หรือทรัพย์สินที่บริษัท ท. มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ กรณีย่อมไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาที่จะให้จำเลยต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2558
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ก่อวินาศภัย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ถ. ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่ได้ บันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเพียงข้อตกลงระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันกับจำเลยเท่านั้น หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ แม้มูลหนี้ละเมิดระหว่าง ถ. ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยจะระงับสิ้นไป ตามบันทึกการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ตาม แต่หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิใช่คู่สัญญาไม่ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ถ. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2558
กองทัพบกเป็นส่วนราชการ สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 มาตรา 8 ซึ่งใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ กระทรวงกลาโหมจึงมีอำนาจควบคุมดูแลกิจการในกองบัญชาการทหารสูงสุดตลอดไปถึงกิจการในกองทัพบก สิบเอก ต. เป็นทหารสังกัดกองทัพบก จึงถือว่าเป็นทหารในสังกัดของกองบัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมจำเลยด้วย เมื่อสิบเอก ต. ขับรถบรรทุกน้ำคันเกิดเหตุตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ซึ่งทั้งกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมจำเลยต่างเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องทั้งกองทัพบกซึ่งเป็นต้นสังกัดโดยตรง และฟ้องกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นต้นสังกัดในลำดับสูงขึ้นไปได้ด้วย การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องกระทรวงกลาโหมให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่สิบเอก ต. ซึ่งถือเป็นผู้แทนของจำเลยผู้กระทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 76 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2558
การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดค่าเสียหายกรณีจำเลยกระทำการเช่นนี้ไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน และการกระทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์ โจทก์ก็มิได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด แม้โจทก์จะดำเนินการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกค้าของโจทก์ที่ซื้อสินค้าไปเกินวงเงินสินเชื่อตามที่จำเลยได้อนุมัติและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้บุคคลดังกล่าวชำระเงินแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ถูกฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย จะนำจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นฐานคำนวณให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ เพราะกรณียังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะบังคับคดีแก่ลูกค้าของโจทก์ภายใน 10 ปี ได้เงินชำระหนี้เพียงใดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและมูลละเมิด อันเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2558
ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้ คดีนี้ ปรากฏว่าศาลได้ตั้งโจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย หาใช่ผู้ตายตั้งโจทก์ที่ 3 ไม่ ดังนั้น โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 จัดการและใช้จ่ายในการปลงศพผู้ตาย โจทก์ที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายค่าทำศพให้โจทก์ที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจึงเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ ป.พ.พ. มาตรา 433 บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดทั้งหมด การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะศาลย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ และศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิของแต่ละคน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2558
แม้โจทก์มิใช่ข้าราชการในกรมอัยการแต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลตามความหมายของคำว่า พนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (5) และเนื่องจากตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" ซึ่งมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" จึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ จึงไม่ใช่บทบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้อง ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18235/2557
แม้สิทธิในการได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 เป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยจะได้รับเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วก็ตาม แต่มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. และมาตรา 4 บัญญัติว่า ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายความว่า ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น... เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ ช. กับค่าเสียหายของรถจักรยานสองล้อเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นหรือต้องนำค่าเสียหายเบื้องต้นไปชดใช้ค่าเสียหายอย่างอื่นอันเกิดขึ้นจากการที่จำเลยกระทำละเมิดจนเป็นเหตุให้นายชิ้นถึงแก่ความตาย จึงต้องนำเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 200,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไปแล้วและถือว่าเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. ไปหักออกจ่าค่าเสียหายดังกล่าวด้วย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เงินค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ได้รับไปแล้วมีจำนวนเท่ากับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพแก่โจทก์อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18033/2557
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 2 โดย ป.พ.พ. มาตรา 430 บัญญัติว่าให้ผู้รับดูแลผู้เยาว์จำต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการละเมิดซึ่งผู้เยาว์ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส ซึ่งบุคคลอื่นในวัยผู้เยาว์ไม่อาจเล่นได้ จึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควร โดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันมาเล่นอยู่บริเวณโรงจอดรถภายในลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสของโจทก์จนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ถังน้ำมันและเศษผ้าที่กองอยู่บริเวณด้านหน้ารถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 83 - 0776 อุดรธานี และไฟลุกลามไหม้รถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว รวมทั้งรถพ่วงบรรทุกท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 9686 อุดรธานี กับรถแบ็คโฮ ของโจทก์ซึ่งจอดไว้ในโรงจอดรถได้รับความเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควรหรือปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส แม้ได้ความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สจากร้านค้าและนำมาจุดเล่นกันบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ข้อนี้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต่อสู้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว โดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 นำสืบว่า ไม่เคยปล่อยให้จำเลยที่ 1 เล่นไฟ ไม่เคยใช้ให้ไปจุดไฟเผาขยะหรือใช้ให้ไปซื้อไฟแช็กแก๊สที่ร้านค้า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปเล่นที่ลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัส เนื่องจากบุตรเขยของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 1 ทำงานที่ลานดังกล่าว และจำเลยที่ 7 และที่ 8 นำสืบว่าวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ออกจากบ้านไปงานศพตั้งแต่เช้า จึงพาจำเลยที่ 2 ไปฝากกับนางฉุยซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 6 โดยโจทก์มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่นำสืบว่าไม่เป็นความจริง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างไร หรือรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สและนำมาจุดเล่นจนเกิดเพลิงลุกไหม้ทรัพย์สินโจทก์หรือเคยรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊สแล้วไม่ดูแลห้ามปราม ลำพังโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความลอย ๆ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16906/2557
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดจงใจกลั่นแกล้งเป็นเหตุให้นายทะเบียนไม่ยอมรับการจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยและเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 1 ทราบคำสั่งของนายทะเบียนคืออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ไม่รับจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าตั้งแต่วันดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งห้านำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งแปดเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เกินกำหนด 1 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการนั้นเป็นการกระทำของโจทก์ทั้งห้าภายหลังอันเป็นเพียงผลที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งแปดตามที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้าง มิใช่การกระทำละเมิดต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งถึงที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16000/2557
การที่พยานโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบหลังเกิดเหตุครั้งแรกว่ามีสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของโจทก์ติดตั้งอยู่แต่ไม่มีความชัดเจนว่าฝังอยู่จุดใดบ้าง ประกอบกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้รับเหมาช่วงซึ่งดำเนินการวางท่อประปามาแล้วประมาณ 50 กิโลเมตร ขุดไม่โดนสายเคเบิลของโจทก์เลย เหลือระยะทางที่จะต้องวางท่อประปาอีกประมาณ 135 กิโลเมตร ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ยังคงขุดเพื่อวางท่อประปาต่อไปตามแนวเขตที่ได้รับอนุญาตโดยปฏิบัติเหมือนกับ 50 กิโลเมตรแรก จึงฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สายเคเบิลของโจทก์ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15591/2557
การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2557
จ่าสิบตำรวจ ว. เป็นข้าราชการตำรวจ ในสังกัดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ การที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลในการไต่สวนการตายตามหมายเรียกพยานบุคคลของศาล ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่และเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากเห็นสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น เมื่ออุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จ่าสิบตำรวจ ว. เดินทางไปเป็นพยานศาลเป็นการกระทำโดยประมาทธรรมดา จ่าสิบตำรวจ ว. จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15438 - 15440/2557
ป. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะพา ป. ไปทำธุรกิจที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดย ป. นั่งไปด้วย ย่อมถือได้ว่า ป. เป็นตัวการ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ ป. ในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะไปชนรถแท็กซี่เป็นเหตุให้ ป. กับ ส. ถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 1 จึงทำละเมิดภายในขอบอำนาจของตัวแทน ป. ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไป จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของ ป. เป็นทายาทโดยธรรมต้องร่วมรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557
แม้อาการป่วยของโจทก์จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นหรือกระทำการใด ๆ ให้โจทก์เกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่การแจ้งผลการตรวจผิดพลาดทำให้อาการโรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกโดยตามใบมรณบัตรยังระบุว่าโรคมะเร็งของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้โจทก์ถึงแก่ความตายในที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งผลการตรวจสุขภาพประจำปีผิดพลาดไปจากความจริงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14169/2557
ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการใช้ข้อความ ต้องพิจารณาข้อความว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและอ่านข้อความแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความที่ จ. เขียนเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่ จ. อ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งต่อมาโดยผลของการตีพิมพ์ข้อความยังเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพรับราชการไม่พึงปรารถนา แม้ผลการสอบสวนจะไม่มีความผิดแต่ก็จะมีมลทินมัวหมอง และอาจะมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการอีกด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจ จัดทำ และควบคุมข่าวและข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต้องถือเป็นตัวการร่วมรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์และหมิ่นประมาทโจทก์ จ. ผู้เขียนข่าวไม่รู้จักโจทก์ ไม่รู้ว่าดาบ ก. มีตัวตนหรือไม่ ไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ได้เก็บหนังสือร้องเรียนไว้ แสดงว่า ผู้เขียนไม่ได้มีข้อมูลหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะส่อแสดงว่า ที่อำเภอปะคำมีตำรวจชื่อดาบ ก. นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ชาวบ้านจำหน่าย ในฐานะเป็นสื่อมวลชน เมื่อมีหนังสือร้องเรียนซึ่งไม่ได้ลงชื่อผู้ร้องเรียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ข้อมูลในการกล่าวหาโจทก์ที่ได้มาเพียงเท่านี้ วิญญูชนย่อมทราบได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน จำเลยที่ 3 ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะเสนอข่าวอย่างใดก็ได้นั้นมิได้ มิฉะนั้นอาจจะเป็นช่องทางให้บุคคลบางคนบางกลุ่มใช้สื่อในการทำลายชื่อเสียงกันและย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14023/2557
แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ มาตรา 44/1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่คดีในส่วนอาญาได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปก่อนแล้วจึงมีการพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งในภายหลัง เช่นนี้ปัญหาว่าผู้ร้องมีส่วนประมาทด้วยมีผลทำให้ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 หรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาในคดีส่วนแพ่ง การที่ผู้ร้องมีส่วนประมาทซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ศาลต้องพิเคราะห์พฤติการณ์ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรนั้น มิได้ทำให้ความเป็นผู้เสียหายของผู้ร้องในอันที่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่ยื่นไว้ในคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วสูญสิ้นไปแต่อย่างใด ผู้ร้องยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวทุกประการ เพียงแต่จะเรียกได้มากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ว่าผู้ร้องกับจำเลยฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเท่านั้น ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าผู้ร้องประมาทด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจึงฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12686/2557
บทบัญญัติเรื่องอายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด เช่น นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเป็นต้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 3 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนสาขาบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และกรณีนี้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เช่นว่านี้ มิใช่รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับได้ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่คดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12335/2557
คำร้องของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ยึดทรัพย์ตามที่โจทก์นำชี้ และหลอกลวงให้คำแนะนำในการบังคับคดี จนหลงเชื่อทำคำร้องขอให้ศาลเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้คัดค้าน และถูกศาลยกคำร้องทำให้โจทก์ต้องเสียหาย ขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 283 วรรคสอง อันเป็นข้ออ้างให้ผู้คัดค้านในฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้านตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ โดยไม่มีบทมาตราใดยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่กรณีใด และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติอีกว่า "บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน" ดังนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้เรียกร้องเอาแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่ต้องเรียกร้องเอาแก่หน่วยงานของรัฐนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12017/2557
จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่เกิดเหตุที่รถซึ่งโจทก์รับประกันภัยสูญหายจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่ว่าทำต่อบุคคลอื่น หมายถึง ทำหรือการกระทำต่อสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการงดเว้นไม่กระทำกรณีมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย โดยหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงหน้าที่ตามสัญญา หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์และหน้าที่ตามกฎหมาย สำหรับหน้าที่ตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย สำหรับตามสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 4 กับฝ่ายจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นการจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ได้จ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้พักอาศัยหรือผู้เช่าห้องพักในโครงการด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ ส่วนหน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ก็ได้ความว่าทางปฏิบัติจำเลยที่ 4 ไม่ได้จัดให้มีการตรวจรถที่แล่นเข้าออกโครงการ ไม่ได้จัดให้มีการแลกบัตรหรือแจกบัตรแก่ผู้ขับรถเข้าออกโครงการ อันอาจทำให้เห็นเป็นปริยายถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ สำหรับหน้าที่ตามกฎหมายคือ ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ มาตรา 546 ถึงมาตรา 551 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่า ประมาทเลินเล่อทำต่อผู้เช่าห้องในโครงการโดยผิดกฎหมายให้ผู้เช่าเสียหายแก่รถที่โจทก์รับประกันภัยอันจะเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เช่ารวมทั้งโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 4 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10348 - 10350/2557
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 ซึ่งใช้บังคับกับคดีนี้บัญญัติไว้ความว่า "ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ให้บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกได้" ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 8 จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไปสามรายการ รวมเป็นเงิน 45,000 บาท ไปแล้ว โจทก์ที่ 8 ย่อมไล่เบี้ยเอาแก่ ฉ. ผู้ขับรถโดยสารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ และย่อมไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ต้องร่วมกันรับผิดกับ ฉ. ได้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 5 ผู้เอาประกันภัยรถโดยสารไว้ต่อจำเลยที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิด จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ 8 ย่อมไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 4 ได้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9532/2557
ประกันภัยค้ำจุนคือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยและผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการบรรยายฟ้องเพื่อให้เห็นถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ไปทำละเมิดต่อโจทก์ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้เอาประกันภัยอันเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น และการบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานี้ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร คำฟ้องโจทก์จึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ การระบุชื่อผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ เป็นรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งแต่ละแบบจะมีผลแตกต่างกันในเรื่องความเสี่ยงภัยของผู้รับประกันภัยและการได้รับความคุ้มครองในความเสียหายส่วนแรก อันเป็นผลถึงจำนวนเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้เอาประกันภัยด้วย และแม้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นชนิดไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็จะต้องร่วมรับผิดเฉพาะกรณีผู้ขับขี่นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น มิใช่ผู้ใดเป็นผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายทุกกรณีดังที่โจทก์อ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7183/2557
โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ตามหนังสือดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ดังนั้น วันเวลาที่โจทก์ที่ 2 ไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 น่าจะอยู่ภายในเดือนมกราคม 2538 นอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นการกระทำความผิดฐานใช้หนังสือค้ำประกันปลอม นั้น ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้จึงมิได้มีมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา การใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคท้าย กล่าวคือ โจทก์ทั้งสองต้องฟ้องจำเลยทั้งสี่ภายใน 1 ปี นับแต่เดือนมกราคม 2538 แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองที่นำมาฟ้องคดีนี้จึงขาดอายุความแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2557
ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เพราะฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความมิใช่ยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2557
คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายกับพวกและจำเลยที่ 1 กับพวกต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในทางอาญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งต่อจำเลยที่ 1 เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุมิให้ยกเว้นความรับผิดทางละเมิด อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะข้อสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมโดยตรง ที่มีต่อกันในทางธุรกรรมเกี่ยวกับอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นแก้ไข
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5072/2557
ตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่อ้างมูลเหตุให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายว่า เมื่อจำเลยที่ 4 รับสินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อขนส่งทางรถยนต์ไปส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัย พบว่าสินค้าเสียหายเพิ่มอีก 1 กล่อง ในระหว่างการจัดเก็บโดยไม่ระมัดระวังและไม่ดูแลสินค้าในคลังสินค้าให้ดีเพียงพอของจำเลยที่ 3 และการขนส่งโดยรถยนต์บรรทุกโดยไม่ระมัดระวังและไม่ดูแลสินค้าให้ดีเพียงพอของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกล่าวอ้างถึงการทำหน้าที่ผู้รับฝากทรัพย์บกพร่องจนเกิดความเสียหายแก่สินค้าที่จัดเก็บไว้อันเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ที่ผู้ฝากทรัพย์ใช้สิทธิเรียกร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญาตามที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 จึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยในความรับผิดในมูลละเมิดที่จะใช้อายุความในเรื่องละเมิดแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2557
คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินมาด้วย ซึ่งเป็นคำขอบังคับในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงานต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2557
ตามบันทึกข้อตกลงมีข้อความระบุไว้แต่เพียงว่า ช. และจำเลยต่างยืนยันว่าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือดำเนินคดีอย่างใดซึ่งกันและกัน ค่าเสียหายที่เกิดจากรถเฉี่ยวชนกันดังกล่าวมีทั้งค่าซ่อมรถ ค่ารถยก และค่ารักษาพยาบาลของผู้ที่บาดเจ็บ แต่ตามบันทึกดังกล่าวไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่ชัดแจ้งว่าทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เอาประกันรถยนต์กระบะคือ ธ. มิใช่ ช. สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถหรือค่ายกรถจึงเป็นสิทธิของ ธ. ไม่ใช่สิทธิของ ช. ทั้งไม่ปรากฏว่า ธ. ได้มอบอำนาจให้ ช. ดำเนินการตกลงกับคู่กรณีแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้หนี้ในมูลละเมิดครั้งนี้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ถึง 852
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2557
โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ครอบครองรถร่วมกัน ส่วนจำเลยที่ 4 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์นั้นไปในทางการที่ใช้หรือจ้างวานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อ ว. ผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อันเป็นการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์ทั้งห้าทราบ โดยเห็นว่าข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าคือในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุ ซึ่งความผิดของจำเลยที่ 4 จะมีประการใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความรับผิดของผู้รับประกันภัยค้ำจุน โดยจะต้องพิจารณาเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยประกอบด้วย เมื่อผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด และเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 กำหนดว่า ผู้รับประกันภัยจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับรถโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเอง เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์นำเงื่อนไขดังกล่าวมาวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยอันเป็นไปตามเงื่อนไขแล้วก็เพื่อวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องนั่นเอง จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น กรมธรรม์ประกันภัยเป็นแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่และข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ภริยาของจำเลยที่ 3 ได้ยืมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปใช้ จำเลยที่ 1 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเกิดเหตุคดีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ ม. ภริยาจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมรถที่พยานยืมจากบิดาเพื่อนำบุตรของจำเลยที่ 1 ไปรักษาที่คลินิก ศ. พยานจำเลยที่ 4 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขอยืมรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 3 ไปใช้ก็ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 อีก ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติขับรถคันเกิดเหตุได้ ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 ระบุว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งหมายความว่า นอกจากรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ยังยอมรับผิดในกรณีที่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับรถคันที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยถือว่าได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเสมือนผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามข้อสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำเลยที่ 4 วางเงินที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อชำระแก่ทายาทผู้ตายโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ทั้งห้าหรือญาติผู้ตายจะรับเงินได้ก็ต่อเมื่อคดีแพ่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงไม่อาจรับเงินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขที่จำเลยที่ 4 กำหนดไว้ในการวางเงินดังกล่าว ดังนั้น การวางเงินโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ชำระเงินนั้นให้โจทก์ทั้งห้าแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2557
แม้โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่ง โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดหน้าที่อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อโจทก์ จึงเป็นการฟ้องให้รับผิดทางแพ่งที่มาจากมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่โจทก์อาศัยคำสั่งดังกล่าวบังคับตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันจะต้องอาศัยสำนวนการสอบสวน จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำของตนเองได้ สำนวนการสอบสวนของโจทก์เป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาลเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องโดยไม่ตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก่อนไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป เป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดทั้งในมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557
เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21764/2556
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง อายุความ 1 ปี จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5158/2546 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า ร. ต้องชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ทั้งคำพิพากษาคดีก่อนก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาคดีก่อนเพียงแต่วินิจฉัยว่า ร. ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าในวันที่ศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษา โจทก์ได้ทราบแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์โดยรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ฝ่ายบริหาร) ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรายงานของกองนิติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21420/2556
ข้อเท็จจริงที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็คือการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้นฝ่าฝืนต่อความจริง หากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายความจริงก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แล้ว ร. ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อ. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหม่อมราชวงศ์ จ. ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่รายชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์รวม 10 บริษัท โดยมีชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. รวมอยู่ด้วย ซึ่งการแถลงข่าวของบุคคลดังกล่าวเป็นการแถลงต่อสาธารณชนตามปกติวิสัยเพื่อยุติกระแสความตื่นตระหนกต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำแถลงข่าวของบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง การการะทำของบุคคลดังกล่าวจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21165/2556
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง อายุความในมูลละเมิดมีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่มาตรา 74 บัญญัติว่า ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ ดังนั้น กรณีละเมิดทำให้โจทก์รับความเสียหายโดยมีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 24 ของโจทก์ทั้งคณะถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 ในคดีนี้ แม้จำเลยดังกล่าวจะเป็นผู้แทนของโจทก์อยู่ในขณะนั้น และได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวก็ตาม แต่ไม่อาจถือได้ว่าการรู้นั้นเป็นการรู้ของโจทก์แล้วอันจะทำให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 โดยต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ของโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหม่รู้ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 และได้ฟ้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20920/2556
สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของ ส. และของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ทำแทนโจทก์ การที่ ส. บิดาผู้ตาย ทำบันทึกข้อตกลงกับ ท. พนักงานขับรถของจำเลยจากการที่ ท. ทำละเมิดต่อผู้ตายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าจะไม่นำคดีไปฟ้องร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจาก ท. และจำเลย ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20550/2556
แม้ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายที่ 1 เรียกจาก ว. จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 336/2549 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา จะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และ ว. เป็นลูกหนี้ร่วมซึ่งต้องรับผิดต่อผู้เสียหายที่ 1 ในเหตุที่ร่วมกันทำละเมิดทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนจะต้องชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนต้องชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ผู้เสียหายที่ 1 จึงชอบที่จะเลือกฟ้องจำเลยที่ 1 หรือ ว. คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวหรือจะเลือกฟ้องทั้งสองคนก็ได้ การที่ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 1 ในคดีนี้ และยื่นคำร้องขอให้บังคับ ว. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 336/2549 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา เป็นการบังคับชำระหนี้เอากับบุคคลคนละคนกัน จึงไม่เป็นการร้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15171/2556
ส. นักการภารโรงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโรงเรียนจำเลยที่ 5 ที่ให้เก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ในห้องสมุดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จมาโดยตลอด จำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นสถานศึกษา จึงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ ประสานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานการศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เป็นผู้แทนของสถานศึกษาหรือส่วนราชการในกิจการทั่วไป รวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาราชการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการได้รับตามที่ได้รับมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 (1) (2) และ (3) แม้เครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุจะมิใช่ทรัพย์สินของทางราชการ แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ยืมมาใช้ในราชการ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 644 การที่จำเลยที่ 4 ปล่อยปละละเลยการบริหารกิจการของสถานศึกษาและไม่ควบคุมดูแลบุคลากรในสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการหรือของสถานศึกษา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 เมื่อความประมาทเลินเล่อนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 4 ยืมเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุมาใช้ราชการ แต่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเลยที่ 4 อยู่ในสังกัดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13853/2556
หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีเป็นเอกสารมหาชน จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าแท้จริงและถูกต้อง จำเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นผู้ชำระบัญชีเนื่องจากถูกปลอมลายมือชื่อ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่นำสืบ เมื่อจำเลยที่ 2 นำสืบเพียงแต่เบิกความลอยๆ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษี กลับไม่กันเงินที่จะนำไปชำระหนี้ภาษี ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่ม แต่เงินเพิ่มมิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระ และไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547 จึงมีอายุความสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้นำส่งภาษี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) ภริยาจำเลยที่ 2 รับหนังสือในวันที่ 31 มีนาคม 2549 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่พ้นกำหนด 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องวันที่ 14 มีนาคม 2551 จึงยังไม่พ้นกำหนดสองปี นอกจากนี้ ยังถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาละเมิดด้วย ซึ่งได้ความว่า การดำเนินคดีรายจำเลยที่ 2 นั้น นิติกรประจำสรรพากรภาค 3 จัดทำบันทึกข้อความรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสนอสรรพากรภาค 3 ที่ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อความเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 กรณีต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี อีกทั้งไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ซึ่งคือวันที่ครบกำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าภาษีไปชำระ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2551
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. ได้สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้งแปด ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคา ประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท อันมีลักษณะเป็นการกล่าวอ้างว่ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท เมื่อปรากฏว่าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจเอาคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวฟ้องร้องแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง และโจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินทั้ง 25 แปลง คืนให้แก่บริษัท หรือหากไม่สามารถโอนคืนก็ให้ใช้ราคาที่ดินแทนได้ เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่ บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. 438 วรรคสอง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิใช่กรรมการบริษัทรับผิดโอนที่ดินร่วม 19 แปลง คืนให้แก่บริษัทหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8888/2551
จำเลย ที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาการดำเนินกิจการต่างๆ ของโรงเรียนตั้งแต่วันดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไป แต่กรมสามัญศึกษาโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปจนถึงวันที่จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมีจำนวนเท่าใด ย่อมไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินทั้งหมดได้
กรมสามัญศึกษาโจทก์เป็นกรมในรัฐบาลมีอธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นผู้บริหาร ราชการ อธิบดีกรมสามัญศึกษาจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รวมทั้งการมอบอำนาจ ให้ฟ้องคดีด้วย ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้แก่นิติบุคคลทั่วไปที่ต้องประทับตราของ โจทก์ในการลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมาใช้แก่โจทก์
ในวันที่กรมสามัญศึกษาโจทก์ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแม้จะถือได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดแล้ว ก็ยังไม่อาจถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว ด้วย เมื่อคณะกรรมการสอบสวนสอบสวนเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมสามัญ ศึกษาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยจึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ปรากฏว่ารองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับรายงานการสอบสวน ของคณะกรรมการสอบสวนวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่ง คลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 โดยจำเลยที่ 3 ไม่แต่งตั้งผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันเพื่อตรวจสอบการรับจ่ายเงินใน แต่ละวัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจสอบพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้ภายหลังเหตุคดีนี้ จะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้
จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการับจ่ายเงินและเป็นประธานกรรมการเก็บรักษา ตรวจนับเงินประจำวัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการประมาทเลินเล่อดังกล่าวของตน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7518/2551
คำฟ้องของโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสามเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง มิได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาพัสดุ ไม่ตรวจสอบพัสดุที่เก็บไว้ว่ามีจำนวนตรงกับที่ปรากฏในบัญชีคุมพัสดุหรือไม่ เป็นเหตุให้พัสดุที่เก็บรักษาไว้ในห้องเก็บพัสดุสูญหาย มิได้อ้างว่าจำเลยทั้งสามเอาทรัพย์ดังกล่าวไปในลักษณะแย่งการครอบครองแล้ว ไม่สามารถคืนทรัพย์ได้ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องของการใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มิใช่มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2551
ตามคำฟ้องนอกจากโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันจงใจบุกรุก แผ้วถางและขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินของโจทก์แล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องอีกว่า หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบที่ดินที่จำเลยทั้งสองบุกรุกว่าเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ซึ่งการกระทำด้วยความประมาทจะเป็นความผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติ ไว้โดยชัดแจ้งให้การกระทำโดยประมาทเช่นนั้นเป็นความผิด แต่การกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องใน คดีนี้ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ หรือ ป.ที่ดินหรือกฎหมายอื่นใดที่มีโทษทางอาญา ฟ้องโจทก์เช่นนี้จึงเป็นคำฟ้องที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อ โจทก์เท่านั้น ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดอาญาจึงไม่อาจใช้อายุความในทางอาญา ที่ยาวกว่ามาบังคับได้ แต่ต้องใช้อายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปแผ้วถาง ก่นสร้าง แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ในป่าชายเลนโดยไม่มีสิทธิเรื่อยมาเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่โจทก์ตรวจพบเรื่อยมา จึงมีลักษณะเป็นการกระทำต่อเนื่องดังที่โจทก์ได้นำสืบให้เห็นประจักษ์แล้ว ฉะนั้นตราบใดที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออกไป การละเมิดก็ยังคงมีอยู่ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตลอด เวลาจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการทำละเมิด เมื่อก่อนฟ้อง 1 ปี จำเลยทั้งสองยังไม่หยุดการทำละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ได้ ค่าเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสองย้อนหลังไป 1 ปี ตั้งแต่วันฟ้อง จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับค่าเสียหายในส่วนที่เกิน 1 ปี แล้วเท่านั้นที่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5391/2551
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดี ส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่าง กระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่งทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาท มากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความ รับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่าง ฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ป.พ.พ. มาตรา 442 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง มีข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อน กว่ากันเพียงไร และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยเรื่องค่าสินไหมทดแทนตามควรแก่พฤติการณ์และความร้าย แรงแห่งละเมิด ดังนั้น การที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้จำเป็นที่โจทก์ต้องพิสูจน์ว่า ฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่าและโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่าย ประมาทมากกว่ากัน ไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยประมาทมากกว่า และเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นแล้วกำหนดค่า เสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม 29,500 บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2551
โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรทั้งสามของโจทก์และโจทก์ ต้องขาดไร้ผู้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์และโจทก์ เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า บุตรทั้งสามของโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนด้วยนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรทั้งสามของโจทก์เป็นผู้เยาว์ยังฟ้องหรือคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ฟ้องในนามของบุตรทั้งสามคนด้วยโดยปริยาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4621/2551
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เบียดบัง ยักยอกเงินของโรงเรียนของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยไป โดยมีคำขอบังคับให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถือเป็นคำฟ้องเพื่อเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยผู้ยึดถือทรัพย์สินของโจทก์ไว้ โดยมิชอบในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีสิทธิติดตาม เอาคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 มิใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติอายุความในเรื่องละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 และการฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้ไว้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2551
คำฟ้องคดีแพ่งคู่ความไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างในคำฟ้องเพียงแต่ กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิพากษาได้ความ เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 คดีนี้โจทก์ฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังนี้ ศาลมีอำนาจนำ พ.ร.บ. ดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ได้
ธนูที่เกิดเหตุเป็นธนูที่ใช้ประกอบการแสดงละครวิชาภาษาไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวให้แก่นักเรียน ดังนั้น นอกจากจำเลยที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนทำธนูเป็นอุปกรณ์การเรียน จำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวัง คาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าธนูดังกล่าวอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน และจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำธนูไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิ ให้นำธนูไปใช้เล่นกัน เพราะปรากฏว่ายังมีธนูในห้องเรียนอีกหลายคันเช่นวิสัยผู้มีอาชีพครูทั่วไปจะ พึงปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 4 ปฏิบัติไม่ชอบและขาดความรอบคอบจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ มิได้เป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกาย การที่จำเลยที่ 4 ทำการสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียน ภ. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนวิชาภาษาไทยเสียหายแก่ร่างกาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายได้ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาตาจำนวน 50,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 100,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลอื่นนำเงินมามอบให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนก็ไม่อาจทำให้ความรับผิด ชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องลดน้อยลงไปด้วย จึงไม่อาจนำเงินที่ทางโรงเรียน ภ. และจำเลยที่ 5 ช่วยเหลือโจทก์จำนวน 35,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวน 30,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด รวมทั้งที่โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเล่นยิงธนู ใส่กันกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ก็มีส่วนรับผิดเช่นเดียวกันตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วและศาลอุทธรณ์ ภาค 4 เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายทั้งสองจำนวนรวมเป็นเงิน 80,000 บาท จึงไม่เป็นจำนวนที่สูงเกินความเป็นจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3621/2551
เมื่อน้ำที่โจทก์สูบเข้าไปในบ่อตกปลาของโจทก์เป็นน้ำที่มีสารพิษอันเนื่องจากโรง งานของจำเลยปล่อยน้ำทิ้งลงสู่คูน้ำสาธารณะและเป็นเหตุให้ปลาในบ่อตกปลาของ โจทก์ดังกล่าวตาย การที่จำเลยไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่า น้ำจากโรงงานของจำเลยที่ระบายลงสู่ท่อน้ำทิ้งและไหลลงสู่คูน้ำสาธารณะดัง กล่าวเป็นน้ำใสและปลอดจากสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ ลำพังคำเบิกความลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนโดยเฉพาะพยานผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่ปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย
แม้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงความเสียหายได้แน่ชัด แต่รูปการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบแสดงความเสียหายของปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ ศาลย่อมกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่ง ละเมิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2551
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โดยโจทก์มีภาระการพิสูจน์ การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น ต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความซึ่งเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโจทก์แถลงขอสืบ ส. ทนายโจทก์เป็นพยานปากแรก โดยโจทก์ยืนยันว่า ส. รู้เห็นการประกอบอาชีพของโจทก์ เมื่อยังไม่ได้ฟังคำพยานย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ส. เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง หรือไม่ และพยานหลักฐานของโจทก์ที่จะนำสืบในประเด็นข้อนี้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ประกอบกับโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนสรุปว่า ส. ไม่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องการประกอบอาชีพของโจทก์โดยตรงจึงให้งดสืบพยาน โจทก์ปากดังกล่าว คงมีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว แล้วพิพากษาคดีไปโดยยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2551
โจทก์ ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 แบ่งแยกความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 ไว้เป็นสองส่วน ส่วนแรกได้แก่ค่าเสียหายทางด้านความเสียหายของทรัพย์สินซึ่งคือสิ่งปลูก สร้างอาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ที่ 1 ที่ได้รับความเสียหายตามข้อ 1 ซึ่งยังมิได้ประเมินกันให้ถูกต้องและจะดำเนินการสำรวจโดยสถาบันซึ่งทั้งสอง ฝ่ายยอมรับภายในเดือนตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นและค่า ใช้จ่ายในการสำรวจทั้งหมด ส่วนที่สองได้แก่ค่าสินไหมทดแทนความเดือนร้อนรำคาญทั้งความปลอดภัยเกี่ยวกับ ชีวิตและอนามัย ซึ่งความเสียหายส่วนหลังนี้จำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์ที่ 1 ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เกิดข้อพิพาทจนถึงเดือนธันวาคม 2537 แล้วเป็นเงิน 500,000 บาท แต่หากการก่อสร้างในส่วนโครงสร้างของอาคารไม่เสร็จภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็จะยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 อีกเดือนละ 35,000 บาท นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไป มิได้คำนวณรวมกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังคงมีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายทางด้านทรัพย์สินซึ่งตามบันทึกข้อ ตกลงข้อ 1 ที่โจทก์ที่ 1 มิได้รับชดใช้
บันทึกข้อตกลงข้อ 1. มีข้อความระบุว่า ความเสียหายจากการก่อสร้างอาคารที่มีผลทำให้อาคารทาวน์เฮาว์เสียหายจะดำเนิน การสำรวจโดยสถาบันซึ่งทั้งสองฝ่ายยอมรับภายในเดือนตุลาคม 2537 ไม่มีการตกลงว่าจะต้องชดใช้เงินจำนวนเท่าใด คู่กรณีตกลงจะชำระเมื่อใด และที่ไหน อย่างไร ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องรับผิดในมูลหนี้ละเมิดตามเดิม จึงไม่เป็นการตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้ละเมิดยังคงมีอยู่ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ได้ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428 ได้
ตามสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ต้องทำการก่อสร้างตามแบบแปลนและคำสั่งของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่เกิดขึ้นจากการทำการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในที่ชุมนุมชนซึ่งมีอาคารบ้าน เรือนตลอดจนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกันมาก่อนแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2551
อายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) เป็นอายุความสำหรับหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระ แต่มูลหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์เพื่อทด แทนความเสียหายของโจทก์ เป็นหนี้เงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งหมดทันทีนับแต่วันผิดนัดคือ วันที่เกิดการทำละเมิดเป็นต้นไป จึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระที่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1) และกรณีดอกเบี้ยในหนี้เงินอันเกิดจากมูลละเมิดนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุ ความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2551
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์คือกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง ส่วน ส. ตำแหน่งพนักงานซ่อมบำรุงเครือข่ายและ พ. ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมข่ายสายฉุกเฉินนั้นเป็นเพียงพนักงานของโจทก์ แม้จะฟังว่าบุคคลทั้งสองได้รับทราบเหตุละเมิดและ พ. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งซ่อมได้ดำเนินการจ้างบริษัท บ. เข้าซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำในฐานะที่เป็นตัวแทนของบริษัทโจทก์และรับรู้ว่า บริษัทโจทก์ถูกบริษัทจำเลยกระทำละเมิดตั้งแต่วันเกิดเหตุ คือวันที่ 15 มิถุนายน 2540 แต่ ส. และ พ. ก็มีอำนาจเฉพาะในกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้นและไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดี แก่จำเลยในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าซ่อมแซมให้แก่โจทก์จึงไม่อาจถือได้ว่า ส. และ พ. เป็นผู้แทนของบริษัทโจทก์ในการรับรู้เรื่องอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ด้วย ดังนั้น อายุความ 1 ปี จึงเริ่มนับแต่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึง ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่ ส. หรือ พ. รู้ เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ผู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่า สินไหมทดแทนในวันที่ 10 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2551
อำนาจฟ้องในคดีนี้เป็นของโจทก์ซึ่งเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่ จ้างหรือตัวแทนของจำเลย แต่เนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสกายพิการและสมองได้รับการกระทบกระเทือน จนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จนถึงวันฟ้อง ว. ภริยาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้แทนในนามของโจทก์ซึ่งก็ปรากฏตามคำฟ้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ ว. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นคน เสมือนไร้ความสามารถ และตั้ง ว. เป็นผู้พิทักษ์ แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่ได้มีคำสั่ง และต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำสั่งว่า อาการของโจทก์ไม่ใช่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่เข้าลักษณะบุคคลวิกลจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 จึงมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ว. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นคนวิกลจริตมาตั้งแต่ ว. ยื่นคำร้องขอดังกล่าว ดังนั้น ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งถือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 โจทก์จะเสนอข้อหาต่อศาลได้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดย ต้องมีผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทน แต่ตอนยื่นฟ้องยังไม่มีคำสั่งศาลตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงไม่มีสิทธิทำการแทนเท่ากับโจทก์เสนอข้อหาเอง อันเป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถเท่านั้น มิใช่ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงมีอำนาจที่จะทำการแทนโจทก์ในการเสนอข้อหาของโจทก์ได้ การบกพร่องในเรื่องความสามารถนี้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ตามมาตรา 56 เมื่อได้แก้ไขโดยร้องขอต่อศาลและศาลมีคำสั่งตั้งให้ ว. เป็นผู้อนุบาลมีอำนาจทำการแทนโจทก์แล้ว เหตุบกพร่องในเรื่องความสามารถก็หมดไป ทำให้การฟ้องคดีแทนโจทก์ที่บกพร่องมาแต่ต้นเป็นอันสมบูรณ์ด้วยการแก้ไขนี้ แล้ว
จำเลยทำละเมิดแก่โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสกายพิการ สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เสียความสามารถประกอบการงานอย่างสิ้นเชิงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต้องลาออก จากราชการ แม้โจทก์นำสืบความเสียหายไม่ได้แน่นอน ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรง แห่งละเมิด ส่วนที่จำเลยอ้างว่าหากไม่เกิดเหตุละเมิดก็ไม่แน่ว่าโจทก์จะรับราชการจน เกษียณหรือไม่ และอาจได้รับเงินบำเหน็จบำนาญนั้น ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับโดยชอบอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย
ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเป็นค่าเครื่องรับโทรทัศน์และตู้เย็นในห้องพักผู้ป่วย เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกอันจำเป็นแก่ผู้ป่วยและคนเฝ้าไข้ ทั้งโรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ใช้ในห้องอยู่แล้ว ถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์ต้องเสียไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8271 - 8272/2550
จำเลย ที่ 1 เป็นข้าราชการสังกัดกรมทางหลวง จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของทางราชการกลับจากตรวจงานและได้เกิดเหตุชนกับรถยนต์ที่มี ม. เป็นผู้ขับขี่เป็นเหตุให้ ม. กับผู้โดยสารในรถ 2 คน ถึงแก่ความตาย แม้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้อง ม. ด้วยก็ตาม แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนตามรายงานการสอบสวนไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวน การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ
กรณีมีผู้ทำละเมิดหลายคน ผู้ทำละเมิดทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้นต่อโจทก์เต็มจำนวน
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำบุญงานศพ การทำหนังสือประวัติผู้ตายและค่าของชำร่วยแจกในงานศพ เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและเหมาะสมในการจัดการ ศพของผู้ตายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะยังเป็นผู้เยาว์และ พ. ผู้แทนโดยชอบธรรมจะเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายก็ไม่ทำให้ความ รับผิดในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองลดน้อยลง
แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดจึง ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยว ด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8615/2550
คดีนี้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยกล่าวหาว่าจำเลยเอา ความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาล โดยประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสองรับโทษทางอาญา ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายเพราถูกฟ้องคดีอาญา จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ส่วนคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตาม ป.อ. จึงต้องใช้อายุความทางอาญาซึ่งยาวกว่ามาบังคับ ซึ่งตามบทมาตราที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำผิดอาญานั้น มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี คดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2550
โจทก์ขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูง ทั้งที่เป็นทางร่วมทางแยกซึ่งโจทก์ต้องลดความเร็วของรถลงเพื่อมิให้เกิด อุบัติเหตุ เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 โจทก์จึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย
รถแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 มีชื่อและตราของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ที่ประตูรถทั้งสองด้าน คนทั่วไปที่ได้พบเห็นจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการรับบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
ผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องทุพพลภาพ ความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่เป็นตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ด้วย และศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2550
มูลหนี้ที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์เกิดจากความเสียหายที่จำเลยรับ เป็นทนายความว่าความให้โจทก์ ซึ่งถือว่าโจทก์เป็นตัวการและจำเลยเป็นตัวแทน แล้วจำเลยไม่ฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกหนี้เงินกู้จาก ป. แต่กลับปลอมสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยได้ฟ้อง ป. และ ป. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ดังกล่าวจึงเกิดจากการที่จำเลยไม่ทำการเป็น ตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงมิใช่กรณีละเมิดที่ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามมาตรา 420, 448
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4352/2550
ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสอง คือค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ละเมิดจำต้องใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงตาย แต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้หลังจากผู้เสียหายนั้นถึงแก่ ความตายแล้วด้วยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2550
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ 240,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเท่ากับให้ร่วมชดใช้ค่าอุปการะแก่โจทก์คนละ 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนค่าปลงศพซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันปลงศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ จำเลยทั้งสองรับผิด 66,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดนั้น แม้จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์ แต่ละคนได้ แต่เมื่อนำไปรวมกับค่าขาดไร้อุปการะตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนแล้ว ไม่เกิน 200,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับโจทก์แต่ละคนในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องที่โจทก์ทั้งสองได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัย แล้วเป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เงินที่จำเลยที่ 2 ช่วยค่าทำศพจำนวน 10,000 บาท เป็นการช่วยเหลือค่าปลงศพให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วนตามหลักมนุษยธรรม มิใช่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม จึงนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2549
สัญญาเช่าอาคารทั้งสองฉบับครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว สัญญาเช่าย่อมระงับลง โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่ามีหน้าที่ต้องส่งคืนอาคารที่เช่าแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ ให้เช่า การที่จำเลยไม่ยอมส่งคืนอาคารที่เช่า เป็นการผิดสัญญาเช่าและการที่จำเลยยังครอบครองอาคารที่เช่าต่อไปโดยโจทก์ไม่ ยินยอมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ทั้งฐานผิดสัญญาและฐาน ละเมิด เพียงแต่เมื่อใช้สิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาแล้วโจทก์ไม่อาจใช้สิทธิ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ เพราะเป็นค่าเสียหายมูลกรณีเดียวกัน
สัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 10 ข้อ 1 วรรคสองระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดหรือสิ้นสุดลงด้วยเหตุใดก็ตาม "ผู้เช่า" ต้องส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" ทันที ในกรณีที่ "ผู้เช่า" ไม่สามารถส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" "ผู้เช่า" ยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ "ผู้ให้เช่า" วันละ 2,000 บาท นับแต่วันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่ได้ส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่ผู้เช่าผิดสัญญาไม่ สามารถส่งมอบอาคารที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าในทันที โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าข้อ 1 วรรคสอง ได้ แต่เบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
สัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 11 ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม "ผู้เช่า" จะต้องย้ายออกไปจากที่เช่าทันที ถ้าไม่ขนย้ายออกไปยอมให้ค่าเสียหายค่าปรับเป็นเงินวันละ 2,000 บาท แก่ "ผู้ให้เช่า" ทุกวันจนกว่าจะขนย้ายออกไป ซึ่งระบุเงื่อนไขในการยอมให้ค่าเสียหายเฉพาะกรณีมีการบอกเลิกสัญญาเช่าเท่า นั้น แตกต่างจากสัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 10 แต่แม้จะเป็นกรณีที่สัญญาเช่าสิ้นสุดหรือระงับลงเพราะครบกำหนดเวลาเช่าไม่ เข้าเงื่อนไขที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่า แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดได้ซึ่งโจทก์ได้บรรยายมา ในฟ้องและนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดแล้ว ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2548
โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2), 1087
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งต่อไปย่อมสามารถประกอบอาชีพการงานมีรายได้เช่นคนปกติทั่วไป หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอาการไม่รู้สึกตัวสมองบวม กะโหลกศีรษะยุบ เลือดออกใต้หนังศีรษะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลก ต้องใช้เวลารักษานานอาจเป็นปี หลังผ่าตัดแล้วโจทก์ที่ 1 ยังมีอาการสมองไม่รับรู้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดไม่ได้ ต้องจ้างผู้ดูแลตลอดเวลาทั้งไม่ปรากฏว่าจะสามารถรักษาให้โจทก์ที่ 1 หายเป็นปกติไว้ ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียความสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้โดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ 1 จึงได้รับความเสียหาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ต้องทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดและทุพลภาพไม่สามารถช่วยตัวเองได้ไปตลอดชีวิต ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 500,000 บาท เหมาะสมแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2548
ขณะเกิดเหตุ เด็กชาย ด. บุตรโจทก์ขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องเดินรถที่ 2 เป็นช่องเดินรถที่ 1 และอยู่ห่างจากสี่แยกประมาณ 30 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่รถจะเลี้ยวขวาจะต้องชิดทางด้านขวาสุดของทางเดินรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ หากจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถมาในช่องทางเดินรถที่ 1 ได้ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงเหมือนกับรถคันอื่นก็จะไม่เกิดเหตุชนรถ จักรยานยนต์ที่แล่นอยู่ข้างหน้า เพราะสามารถหยุดรถได้ทัน หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้ให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นพฤติการณ์ของผู้ที่รู้ว่าตนกระทำความผิดแล้วหลบหนีไป เหตุรถชนกันจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1
ค่าขาดประโยชน์ที่มารดาของเด็กชาย ด. ไม่ได้ประกอบการงานในระหว่างที่เฝ้าดูแลรักษาเด็กชาย ด. มิใช่ค่าเสียหายที่เด็กชาย ด. พึงเรียกร้องได้ในกรณีที่มีผู้ทำละเมิดต่อเด็กชาย ด. ทำให้เด็กชาย ด. ได้รับความเสียหายแก่กายหรืออนามัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 444, 445 และ 446
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2548
ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่มาตรา 1563 และมาตรา 1564 ที่บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึง บุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมาย ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2547
การที่เด็กชาย ก. ต้องเป็นคนพิการ ไม่สามารถเดินและขับถ่ายได้ตามปกติ ถือได้ว่าเด็กชาย ก. ต้องสูญเสียความสามารถประกอบการงานในภายหน้าและทำลายความก้าวหน้าไปตลอด ชีวิต โดยความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติก็คือ ความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบการงานได้สิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและใน อนาคต เมื่อผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย ก. ต้องทุพพลภาพไปตลอดชีวิต โจทก์ทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นนี้ยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายอันเป็นที่มาของ ความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัสที่บังเกิดขึ้นกับเด็กชาย ก. ในขณะที่มีอายุเพียง 6 ปี เท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ด้วย ค่าเสียหายดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกันและไม่เป็นค่าเสียหายอย่างเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2547
รถยนต์ของโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่ง ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดชอบในทางแพ่ง ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรับทราบรายงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2539 ต่อมาจังหวัดขอนแก่นส่งรายงานการสอบสวนไปให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขรักษาการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงชื่อ รับทราบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5128/2546
เงินที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมเป็นค่าทดแทนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 18 ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม ได้จำเลยไม่อาจเอาค่าทดแทนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับดังกล่าวมาขอลดหย่อนค่าขาดไร้อุปการะได้
ค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่ได้เกิดขึ้นแล้วนับแต่เวลาทำละเมิดมิใช่เป็นการชดเชยหนี้ในอนาคต และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าขาดไร้อุปการะซึ่งเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่งได้ในระหว่างผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544
การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 9 ไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้าง หน้าจำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึง จุดหมายปลายทางอันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608,609 และพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 9(7)การขนถ่ายผู้โดยสารของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 จากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797
ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผล สืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิดจำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่น เดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาลหรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้าย แรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว เมื่อพิจารณาจากลักษณะบาดแผลกับวิธีการรักษาบาดแผลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งต้องผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี ต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของบาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขน ซ้ายสั้นกว่าแขนขวา ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินที่โจทก์ที่ 1ชอบจะเรียกร้องได้
โจทก์ที่ 2 ต้องออกจากงานมาดูแลโจทก์ที่ 1 โดยตลอด ซึ่งก็ต้องขวนขวายหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 รวมทั้งการดำรงชีพของโจทก์ที่ 1 ตลอดมาในระหว่างดำเนินคดีจนถึงที่สุดเป็นเวลานานกว่า 10 ปี นอกจากนี้ในคดีละเมิด โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 206 แต่โจทก์ที่ 1 ก็มิได้เรียกร้องดอกเบี้ยก่อนฟ้องมาด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 9 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(6) นั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2541
ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดที่จะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 วรรคแรก ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และ ความร้ายแรงแห่งละเมิด เมื่อความเสียหายของสะพานลอยคนข้าม ที่ถูกรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับชนเป็นรอยโก่ง ขึ้นเท่านั้น และเอกสารเสนอราคาค่าซ่อมแซมสะพานที่มีราคาสูงถึง 364,800 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ารถยกตัวสะพานลง และขึ้นและค่าไม้สำหรับทำนั่งร้านรองรับตัวสะพาน ส่วนค่าซ่อมตัวสะพานจุดที่จะต้องตัดต่อและเปลี่ยน เหล็กโครงสร้างใหม่เป็นเงินเพียง 56,560 บาท แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ก็ไม่ได้ทำการซ่อมแซมสะพานดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ได้ปรับปรุงขยายถนนบริเวณดังกล่าวเป็น 10 ช่องจราจรจึงได้รื้อถอนสะพานออกไป การกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ให้โจทก์ 70,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2540
คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2495 มาตรา 103 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 มาตรา 60(2) และ 62 เป็นคำสั่งทางปกครองมิใช่นิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องใช้กำหนดเวลาทางปกครองปรับแก่คดี เมื่อตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลาในการที่จะนำคดีมาฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือ ลักษณะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ประกอบมาตรา 448 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2751/2540
ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย ตามนัยมาตรา 438 วรรคสองแห่ง ป.พ.พ. ดังนั้น ค่าขาดประโยชน์ที่จะได้จากการให้เช่าจึงถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย ซึ่งหากโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์คันพิพาทเอง โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ด้วย เมื่อโจทก์ที่ 1 มอบสิทธิการครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาทให้โจทก์ที่ 2 การทำละเมิดของจำเลยจึงกระทบถึงสิทธิของโจทก์ที่ 2 โดยตรง โจทก์ที่ 2 จึงย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่จะได้จากการให้เช่าได้ดุจเดียวกับโจทก์ที่ 1 โดยไม่จำเป็นที่โจทก์ที่ 2 จะต้องมีความผูกพันหรือมีส่วนได้เสียใด ๆ ในอันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2539
การที่จำเลยที่2นำรถยนต์บรรทุกไปจอดใกล้กับทางรถไฟแม้จะอยู่ในบริเวณลานจอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยวิญญูชนย่อมจะต้องคาดหมายว่าเมื่อรถไฟแล่นมาตามรางจะต้องมีระยะที่ปลอดจากสิ่งกีดขวางพอสมควรเพื่อป้องกันมิได้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกันพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา57(8)จึงบัญญัติว่าห้ามมิให้จอดรถห่างจากทางรถไฟน้อยกว่า15เมตรแต่จำเลยที่2มิได้ปฎิบัติตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องบุคคลอื่นเมื่อจำเลยที่2นำรถไปจอดในที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเป็นระยะ2เมตรหรือ1เมตรก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา422ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่2เป็นผู้ผิดจำเลยที่2จึงละเมิดต่อโจทก์และเป็นการกระทำในทางการที่จ้างจำเลยที่1จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างตามมาตรา425 การที่ช. ขับรถไฟมาด้วยความเร็วประมาณ15กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อผ่านทางโค้งเห็นบริเวณที่จอดรถมีรถยนต์บรรทุกจอดอยู่หลายคันมีรถยนต์ของจำเลยที่2อยู่ใกล้ทางรถไฟมากกว่าคันอื่นแต่ช. คงขับรถไฟด้วยความเร็วเท่าเดิมเมื่อเข้าไปใกล้ในระยะประมาณ10เมตรเห็นว่าไม่อาจขับรถผ่านไปได้โดยไม่เกิดเหตุเฉี่ยวชนกันจึงเปิดหวีดอันตรายพร้อมห้ามล้อฉุกเฉินแต่ไม่อาจหยุดรถไฟได้ทันนั้นในภาวะเช่นนั้นช. ย่อมจะคาดหมายได้ว่าอาจเกิดการเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่อย่างผิดปกติตั้งแต่ขับรถไฟผ่านโค้งมาแล้วการที่ช. ขับรถไฟด้วยอัตราความเร็วเท่าเดิมจนถึงระยะที่ไม่อาจหยุดรถก่อนจะถึงที่เกิดเหตุได้ถือว่าช.มีความประมาทเลินเล่อด้วยส่วนหนึ่งแต่การที่จำเลยที่2นำรถไปจอดนั้นมิใช่อยู่ในลักษณะที่กีดขวางทางรถไฟอย่างชัดแจ้งจะคาดหวังให้ช. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการหยุดรถตั้งแต่เห็นย่อมจะไม่ได้เพราะรถไฟแล่นมาตามรางซึ่งเป็นทางบังคับเป็นหน้าที่ของผู้นำรถบรรทุกไปจอดจะต้องระมัดระวังมากกว่าในส่วนประมาทเลินเล่อของช. จึงมีเพียงเล็กน้อยจำเลยที่2มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดสองในสามส่วนของความเสียหายทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2538
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 445 และมาตรา 1567 แสดงให้เห็นว่าหากบิดาหรือ มารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอันใดอันหนึ่ง ในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อบุตรซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมาย ที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดาจนถึงแก่ความตายผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่า สินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานนั้น ด้วยและการฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานดังกล่าวมิใช่การฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ ตามมาตรา443วรรคสาม ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตายได้ให้ผู้ ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัทว.ที่โจทก์ทั้งสองได้จัดตั้งขึ้นและโจทก์ทั้ง สองเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทแต่บริษัทว. เป็นนิติบุคคลต่างหากการที่ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัทว. จะถือว่าผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่และเมื่อผู้ตายถึง แก่ความตายโจทก์ทั้งสองต้องจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานแทนผู้ตายก็เป็นการจ้างมา ทำงานให้แก่บริษัทว.หากเป็นกรณีที่ต้องขาดแรงงานบริษัทว. ก็คือบุคคลที่ต้องขาดแรงงานหาใช่โจทก์ทั้งสองไม่โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เรียกค่าขาดแรงงานจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5515/2538
ผู้ครองสังหาริมทรัพย์อยู่ในขณะถูกทำละเมิดมีสิทธิรับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทน จากผู้ทำละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 441 ย่อมมีสิทธิที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับการรับชำระหนี้ค่าสิน ไหมทดแทนได้เช่นกัน การที่จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ที่ ส.ขับ และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับ ส.ขึ้น สัญญานั้นย่อมมีผลบังคับได้ แม้ส.จะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่ขับและย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องซึ่งแต่ละ ฝ่ายได้สละแล้วนั้นระงับสิ้นไปตาม มาตรา 852 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ ส. ขับซึ่งได้ซ่อมรถยนต์ไปแล้วจึงไม่อาจรับช่วงสิทธิ เรียกร้องจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2537
ภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 วรรคสอง ค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อ เสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว จะฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามี อีกไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4735/2534
การที่ผู้แทนโจทก์สั่งลงทัณฑ์จำเลยทั้งสองตามรายงานของคณะกรรมการ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งรายงานไปยังผู้แทนโจทก์ตามลำดับชั้น ผู้แทนโจทก์รับทราบเมื่อวันที่ 18พฤศจิกายน 2523 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 3พฤศจิกายน 2524 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3669/2531
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผน ไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและการส่งเงินจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ยักยอกเงินของโจทก์ไปได้และทำให้โจทก์เสียหายเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทนโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยมูลละเมิดทั่วไป มิใช่มูลละเมิดอันเป็นความผิดมีโทษทางอาญา จึงมีอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ซึ่งต้องเริ่มนับอายุความ ตั้งแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้เสียหายย่อมต้องนับจากวันที่ผู้แทนของนิติบุคคลได้รู้ดังกล่าว โจทก์เป็นสุขาภิบาลตูมใต้มีนายอำเภอกุมภวาปีเป็นประธานโดยตำแหน่งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอกุมภวาปีสารวัตรใหญ่แจ้งความว่าได้รับคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เข้ามอบตัวในวันเดียวกัน การแจ้งความดังกล่าวมิใช่การแจ้งความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ต้องหาด้วยจะถือว่ารู้ตัวผู้จะต้องรับผิดรายอื่น ๆ ไม่ได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดอันจะนับอายุความในวันดังกล่าวต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวบุคคลผู้ต้องรับผิดเพื่อการละเมิดเกี่ยวกับจำเลยในวันที่นายอำเภอกุมภวาปีคนใหม่รับทราบจากรายงานของคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งเกี่ยวกับการทุจริตรายนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องยังไม่เกิน 1 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2258/2527
จำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งบุคคลเดินรถโดยสารประจำทาง ได้เช่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 มาใช้ในการเดินรถโดยสารของตนโดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็น คนขับ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย แม้นายจ้างของโจทก์จะได้ออกเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ไปแล้วก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์พ้นความรับผิดในการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2527
การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในคดีแพ่งนั้น ต่างกับการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดอาญาโดยประมาทซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดโดยแน่ชัดสำหรับคดีแพ่ง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแสดงว่าการละเมิดของผู้ทำละเมิดเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็พอทำให้เข้าใจได้แล้วว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโจทก์มีอย่างไร
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกเรืออวนลากสูงกว่ากฎหมายกำหนดและด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ เป็นเหตุให้เรืออวนลากซึ่งบรรทุกอยู่บนรถชนสายโทรศัพท์และเสาโทรศัพท์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1731 - 1732/2526
การที่รถชนกันเป็นเพราะคนขับรถของโจทก์และจำเลยต่างประมาทด้วยกัน และไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ค่าเสียหายจึงพับกันไป
ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อจำเลยที่ 2 นายจ้างไม่ต้องรับผิด ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาได้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1229/2517
การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในคดีแพ่งนั้น ต่างกับการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดอาญาโดยประมาท ซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดโดยแน่ชัดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158สำหรับคดีแพ่ง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแสดงว่าการละเมิดของผู้ทำละเมิดเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก็พอทำให้เข้าใจได้แล้วว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์มีอย่างไร
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถยนต์ของผู้ขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ล.บ.03951ของจำเลยที่ 3 กับ ย. ลูกจ้างขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนส.ค.00331 ของจำเลยที่ 1, 2 เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวชนกัน และเนื่องจากการชนกันนี้เป็นเหตุให้ถังบรรจุขวดเบียร์และโซดาซึ่งบรรทุกอยู่บนรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ส.ค.00331 หล่นลงบนรถยนต์คันที่โจทก์ขับและเกิดระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1204/2517
การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในทางแพ่งต่างกับการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดอาญาโดยประมาท ซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดโดยแน่ชัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 สำหรับคดีแพ่งเมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องแสดงว่าการละเมิดของผู้ทำละเมิดเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก็พอให้เข้าใจได้แล้วว่า ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์มีอย่างไร
โจทก์บรรยายฟ้องว่า นายย้าผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุกเลขทะเบียนส.ค. 00331 ซึ่งบรรทุกเบียร์และโซดา ได้ขับรถเฉี่ยวชนกับรถยนต์เลขทะเบียน ล.บ. 03951 เป็นเหตุให้ลังเบียร์และโซดากระเด็นตกจากรถ ถูกรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ก 5252 ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เสียหาย เหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์เลขทะเบียน ส.ค.00221 และผู้ขับขี่รถยนต์เลขทะเบียน ล.บ. 03951 ดังนี้ เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2010/2515
การฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเอาของโจทก์ไปโดยละเมิดนั้นไม่อยู่ในบังคับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
การเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยเพราะเหตุที่ได้ยึดเอกสารสิทธิและเช็คไปจากโจทก์ (แล้วไม่ยอมคืนจนคดีขาดอายุความ และหมดสิทธิที่จะขอรับเงินจากธนาคาร) นั้นโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายแก่โจทก์ มิใช่นับแต่วันรู้ถึงการกระทำผิดกฎหมาย และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2497
ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้น ศาลอาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และรูปคดี ศาลอาจคำนวณให้ตามผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิด โดยไม่หักค่าใช้จ่ายก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น